หน้าแรก · Smart Devices · ภาพยนต์ · คลิปวีดีโอ · สร้างรูปติดบัตรออนไลน์ · ใส่วันที่ในรูปถ่าย · นโยบายการให้บริการ
เนื้อหาสาระ ห้องภาพมาโคร สินค้า ข้อมูลกล้อง ข้อมูลเลนส์ ข้อมูลเครื่องพิมพ์ เปรียบเทียบสเป็ค
แมลงวัน... ตัวแบบง่ายๆสำหรับการฝึกถ่ายมาโคร
เมื่อคุณเริ่มต้นคิดจะถ่ายมาโคร อย่ายึดติดกับสิ่งที่จะถ่ายว่าต้องเจอตัวแบบตัวโน้นตัวนี้ก่อนแล้วค่อยหยิบกล้องมาถ่ายมาโคร การฝึกฝนด้านการถ่ายภาพมาโครไม่จำเป็นต้องรอเจอตัวแบบที่สวยๆหรือฉากหลังที่ถูกใจแต่อย่างใดครับ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวคุณ สามารถเป็นตัวแบบให้ฝึกถ่ายมาโครได้อย่างไม่ยาก เริ่มตั้งแต่สิ่งของนิ่งๆเช่น ปากกา, ดินสอ, ยางลบ, เหรียญบาท, พระเครื่อง ฯลฯ

และเมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับการถ่ายภาพมาโครกับสิ่งของที่ไม่เคลื่อนไหวแล้ว แมลงที่พร้อมจะเป็นตัวแบบให้คุณได้ฝึกถ่ายภาพมาโครได้ ซึ่งเป็นแมลงที่หาได้ไม่ยากและผมเชื่อว่าน่าจะมีกันแทบทุกบ้าน นั่นก็คือเจ้าแมลงวันครับ

ทุกคนเคยสังเกตกันไหมครับว่า เวลาเรากำลังกินอาหารหรือนั่งอ่านหนังสือ, เล่นเน็ท, เล่น Facebook หรือจะทำอะไรอยู่ก็ตามแต่ เมื่อมีแมลงวันมาบินวนเวียนอยู่ใกล้ๆเรา ต่อให้เราปัดมันยังไง มันก็จะยังคงบินวนเวียนกลับมาอยู่ใกล้ๆเราวันยังค่ำ เพราะฉะนั้นก็อย่ากระนั้นเลย... ในเมื่อปัดไล่ยังไงก็ไม่ไป ก็เตรียมกล้องและอุปกรณ์ของคุณให้พร้อม และใช้เจ้าแมลงวันเป็นตัวแบบให้เราได้ฝึกถ่ายมาโครไปซะเลยครับ (ดันไม่หนีดีนัก 5555555)

วิธีการของผมก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ เตรียมกล้องเลนส์อุปกรณ์สำหรับถ่ายมาโครให้พร้อม เวลามีแมลงวันบินมาป้วนเปี้ยนตรงไหน ก็รอดูว่ามันเกาะนิ่งๆตรงไหนสักแห่ง ซึ่งโดยปกติมันจะเกาะนิ่งๆ ไม่ค่อยเดินไปเดินมาเหมือนพวกมดหรือแมลงชนิดอื่นๆเท่าไหร่ พอเราเห็นมันอยู่นิ่งๆได้สักพักเราก็เริ่มขยับตัวเข้าหามันครับ ค่อยๆขยับอย่างช้าๆและใจเย็นๆ ซึ่งแมลงหลายๆชนิดก็ต้องใช้วิธีเข้าหาตัวแบบอย่างช้าๆและเงียบๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการฝึกถ่ายมาโครกับเจ้าแมลงวันนี่ถือว่าเป็นบททดสอบและการฝึกที่ดีเลยแหล่ะครับ และเมื่อเราผ่านด่านทดสอบกับเจ้าแมลงวันบ้านๆแบบนี้ไปแล้ว ต่อไปก็ค่อยๆลองถ่ายมาโครกับแมลงชนิดอื่นๆบ้างตามโอกาส

มุมมองหลักๆผมแนะนำว่าให้เน้นหน้าตรงไปเลยครับ (ไม่ใช่มุมกดหรือมุมเสย) เปรียบเสมือนว่าแมลงกำลังยืนมองหน้าเราตรงๆ อาจเยื้องนิดเยื้องหน่อยบ้างหากสถานที่ไม่เอื้ออำนวยในการจัดมุมภาพก็ไม่เป็นไร แต่พยายามให้เน้นช็อทหน้าตรงไว้ก่อนครับ หากโฟกัสเข้าเป้าจะช่วยทำให้ภาพดูมีสเน่ห์เปรียบเสมือนตัวแบบส่งอายคอนแท็คมาให้ผู้ดูภาพอย่างไงอย่างงั้น ที่ผมแนะให้พยายามถ่ายในมุมที่ดีตั้งแต่แรก ก็เพราะว่าเราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าเจ้าแมลงตัวแบบที่กำลังจะถ่ายมาโครนี้มันจะบินหนีเราเมื่อไหร่ เราอาจมีโอกาสกดชัตเตอร์ได้เพียง 1 ครั้ง หรืออาจยังไม่ทันได้กดมันก็อาจบินหนีไปแล้วก็ได้ครับ แต่ถ้าโชคดีหน่อยเจอแมลงที่มันไม่ตื่นตกใจง่ายมันก็อาจยืนให้เราถ่ายได้สบายๆหลายๆมุมด้วยซ้ำ ซึ่งอันนี้ต้องแล้วแต่อารมณ์ของมันล่ะครับ เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นช็อทแรกที่โดนใจไปเลยครับ อย่าขี้เกียจย่อหรือขยับเข้าใกล้ในมุมที่ต้องการ ก็จะทำให้คุณมีโอกาสได้ภาพมาโครที่ดูน่าสนใจได้มากขึ้นครับ

ลองมาดูตัวอย่างหลายๆภาพที่ผมมีแมลงวันเป็นตัวแบบให้ฝึกถ่ายมาโครกันครับ ทุกภาพไม่ได้ตัดส่วน (Crop) ใดๆนะครับ เน้นให้เห็นภาพที่อุปกรณ์ทำได้จริงเป็นหลัก

หมายเหตุ: ผมจะพยายามลงรายละเอียดการตั้งค่าในการถ่ายแต่ละช็อทไว้ด้วย เผื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจถ่ายมาโครโดยไม่ต้องใช้เลนส์มาโครนะครับ

ภาพที่ 1. ภาพนี้ผมใช้แหวนกลับเลนส์ กับเลนส์ 28mm เป็นพวกเลนส์เก่าจากกล้องฟิล์มสมัยก่อนแหล่ะครับ ใช้ค่าเอฟประมาณ F11 (ส่วนใหญ่ผมจะใช้ค่าเอฟประมาณ 8-11-16 เป็นหลักสำหรับเลนส์ Manual แต่ถ้าพวกเลนส์ออโต้ก็จะใช้ตั้งแต่ F25 ลงไปถึงแคบที่สุดอย่าง F32) ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 ตลอดครับ ตบแฟลช Manual ลงไปก็ได้แสงอย่างในรูปครับ


ภาพที่ 2. ภาพนี้ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่าใช้เลนส์ 28mm หรือเลนส์ 50mm (ต่อแบบกลับเลนส์กับท่อต่อเลนส์) ซึ่งแมลงวันตัวนี้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวข้างบนในภาพที่ 1 อยู่พอสมควรครับ ภาพมาโครที่ถ่ายออกมาได้จึงมีขนาดตามที่เห็น แต่จังหวะจะโคนที่มันกำลังเป่าลูกโป่งนั้นทำให้ภาพดูน่าสนใจมากกว่ามันยืนเฉยๆทั่วไปแหล่ะครับ


ภาพที่ 3. นี่คือภาพแมลงวันตัวเดียวกันกับภาพที่ 1. ครับ แต่คราวนี้ผมถ่ายด้านข้างของมัน เห็นไหมครับว่าภาพหน้าตรงของมันน่าสนใจมากกว่าภาพด้านข้างพอสมควร


ภาพที่ 4. บางทีคุณอาจจะเจอแมลงวันเกาะอยู่บนใบไม้ที่โดนลมพัดไหวไปมา โอกาสที่จะโฟกัสภาพให้ชัดและกดชัตเตอร์ให้ได้ภาพที่ชัดได้อาจทำได้ค่อนข้างยากมาก แต่ถ้ารอจังหวะที่ใบไม้นิ่งๆก็พอถ่ายมาโครช็อทด้านข้างได้ครับ การแยกแฟลชก็อาจทำให้ได้ทิศทางแสงที่ดูลึกลับไปอีกแบบครับ


ภาพที่ 5. ภาพนี้ผมใช้เลนส์คิท 18-55mm IS ต่อเข้ากับ Auto tube 1 ชุด ระยะซูมของเลนส์คิทอยู่ที่ 48mm และใช้เอฟ 25, 1/60 ในการถ่าย จะได้ภาพแมลงวันใหญ่ประมาณนี้ ซึ่งยังสามารถถ่ายให้ใหญ่กว่านี้ได้อีกด้วยการซูมไปช่วงไวด์เช่น 35mm คุณก็จะสามารถเข้าไปโฟกัสได้ใกล้มากขึ้นไปอีกซึ่งก็จะทำให้ตัวแบบใหญ่ขึ้นอีกเป็นเท่าตัว


ภาพที่ 6. ภาพแมลงวันยืนเด่นสง่าราวกับสิงโตหน้าวัดนี้ถ่ายด้วย เทคนิคกลับเลนส์ 28mm ล้วนๆครับ ไม่ใช่เลนส์มาโคร 60mm หรือ 100mm ทั่วไป ผมบอกได้เลยว่าเลนส์มาโครตัวละหมื่นกว่าบาทถ่ายตัวแบบให้ใหญ่เท่านี้ไม่ได้แน่นอนครับ


ภาพที่ 7. ช็อทนี้แมลงวันเกาะอยู่บนปากซองที่ใส่ผงซักฟอก เห็นไหมครับว่าไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนเจ้าแมลงวันก็เป็นตัวแบบให้คุณได้ซ้อมมือถ่ายมาโครได้เสมอ


ภาพที่ 8. ภาพนี้เจ้าแมลงวันมันเกาะอยู่บนถุงมือผ้าที่วางอยู่แถวๆราวตากผ้า สำหรับผมการเลือกมุมภาพหน้าตรงของแมลงจะทำให้ภาพดูน่าสนใจไม่น้อยครับ เพราะภาพจะมีลักษณะเหมือนตัวแบบกำลังมองกล้องเลย


ภาพที่ 9. มุมเอียงๆหน่อยก็พอดูได้ครับ แม้จะไม่ชัดทั้งตัว ก็ถือว่าภาพไม่ได้แย่อะไร แต่ถ้ามีโอกาสพยายามเน้นหน้าตรงหรือด้านข้างตรงๆเป็นหลักไปเลยครับ


ภาพที่ 10. แสงเงาที่ได้ในภาพนี้ทำให้เจ้าแมลงวันหน้าตาเปลี่ยนไปจากทั่วไป ภาพนี้ผมตั้งชื่อว่า Darth Vader ตัวร้ายในหนังเรื่อง Star Wars ครับ


สรุปการถ่ายภาพมาโครด้วยตัวแบบแมลงวันบ้านๆนี้... การเริ่มต้นถ่ายมาโครบางคนอาจเริ่มลงทุนด้วยเลนส์มาโครราคาหลักหมื่น ซึ่งก็ถือว่าไม่ผิดนะครับ แต่ในทางปฎิบัติจริงคุณจะไม่สามารถถ่ายภาพมาโครแมลงวันได้ตัวใหญ่อย่างตัวอย่างภาพชุดนี้นะครับ เพราะเลนส์มาโครราคาหมื่นกว่าบาททั่วไปจะขยายภาพได้ที่ 1:1 เท่านั้น ซึ่งมีคนบอกผมว่าก็ใช้วิธีคร็อปภาพเอาก็ได้ ซึ่งจริงๆก็ถือว่าไม่ผิดนะครับ แต่การคร็อปภาพเพื่อให้ตัวแบบใหญ่เพื่อมาโชว์กัน สำหรับผมถือว่าไม่ใช่การถ่ายมาโครครับ แต่เป็นเพียงแค่การคร็อปเพื่อให้ดูใหญ่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่สามารถถ่ายได้เท่านั้น และการคร็อปภาพก็จะทำให้ไฟล์สูญเสียความละเอียดลงไปอีกด้วย ซึ่งสำหรับคนเน้นถ่ายมาโครจริงๆจังๆจะไม่นิยมคร็อปเพื่อให้ใหญ่ครับ แต่จะเลือกคร็อปเพื่อจัดองค์ประกอบเป็นหลักเท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายมาโครแบบ Super Macro (ขนาดที่ใหญ่กว่า 1:1) ผมแนะนำให้ศึกษาหาข้อมูลกันก่อนอย่าเพิ่งรีบร้อนซื้อเลนส์มาโครราคาเป็นหมื่น เพราะมันอาจจะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ไม่ได้จริงนะครับ
หน้าแรก · Smart Devices · ภาพยนต์ · คลิปวีดีโอ · สร้างรูปติดบัตรออนไลน์ · ใส่วันที่ในรูปถ่าย · นโยบายการให้บริการ
เนื้อหาสาระ · ห้องภาพมาโคร · สินค้า · ข้อมูลกล้อง · ข้อมูลเลนส์ · ข้อมูลเครื่องพิมพ์ · เปรียบเทียบสเป็ค
แสงตกกระทบวัตถุ สะท้อนเข้านัยน์ตา ปรากฎเป็นภาพ และเก็บบันทึกไว้ (โดยฟิล์มหรือดิจิตอล)...
Database and e-Commerce system design by · AnyExposure.com